การดำน้ำแบบ Scuba เป็นการดำน้ำแบบที่ต้องใช้อุปกรณ์ในการดำน้ำ เรียกได้ว่าพึ่งพาอุปกรณ์เลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบ Recreational diving หรือ Technical diving และอุปกรณ์ดำน้ำที่สำคัญอันดับต้นๆเลย ก็คงจะหนีไม่พ้น Regulator (เรคกูเลเตอร์) เพราะมันคือหัวใจของการดำน้ำ มันคืออุปกรณ์ที่จ่ายอากาศให้กับเราตลอดเวลาการดำน้ำ แม้กระทั่งในวันที่คลื่นลมแรง การหายใจด้วยเรคกูเลเตอร์ที่ผิวน้ำ ก็ช่วยให้นักดำน้ำไม่สำลักน้ำจากคลื่นที่โหมซัดกระหน่ำ ดังนั้นแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าเราจะเริ่มลงทุนหาอุปกรณ์ดำน้ำเป็นของตัวเองแล้ว เรคกูเลเตอร์คืออุปกรณ์ที่คุ้มค่าที่สุดที่เราควรจ่าย ไม่ใช่แค่ถูก แค่สวยหรือเท่ แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัย ความเหมาะสมที่เข้ากับสไตล์การดำน้ำของเรา แล้วยังงี้ เราจะมีวิธีการเลือกซื้อเรคกูเลเตอร์ยังไงบ้าง Regulator ยี่ห้อไหนดี ทาง Diver’s toy ก็ขอแนะแนวทางตามนี้ และลองคิดกันดูว่า Regulator รุ่นไหนดี

การเลือกซื้อ First stage

ปกติแล้ว First stage จะแบ่งตามลักษณะการวาล์วได้เป็นสองแบบคือ แบบ Yoke และ Din ความแตกต่างของทั้งสองแบบก็คงเป็นเรื่องการประกอบเข้ากับถังอากาศตามที่เราเรียนมาแล้วตอนเริ่มดำน้ำแบบ Openwater แต่จริงๆแล้วในทางเทคนิค แบบ Din จะรับแรงดันได้มากกว่าแบบ Yoke และนักด้ำแบบ Technical diving ก็นิยมใช้แบบ Din มากกกว่า แต่ถ้าเราจะเลือกใช้แบบDin ควรแจ้งทางเรือหรือ Dive shop ที่เราจะไปดำน้ำด้วยว่า เราใช้แบบ Din ให้เตรียมถังอากาศแบบ Din วาล์วไว้ด้วย ไม่งั้นจะอดดำน้ำนะจ๊ะ นอกจากเรื่องวาล์วแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างของ First stage คือระบบ การจ่ายอากาศ ซึ่งจะมีหลักๆ สองแบบ คือ Unbalance และแบบ Balance (บางแบรนด์ก็เรียก Over-Balanceซึ่งคุณสมบัติคล้ายๆกัน ขอเรียกรวมๆว่าแบบ Balance นะครับ) นักดำน้ำมือใหม่ อาจจะไม่เข้าใจถึงความแตกต่าง โดยส่วนใหญ่ Unbalance จะเป็นอุปกรณ์ที่นักดำน้ำได้ใช้ตอนเรียนครั้งแรก เพราะที่เรียนส่วนใหญ่จะใช้แบบนี้ เนื่องจากไม่ได้ลงลึก ดูแลรักษาง่าย อะไหล่ไม่แพง นักดำน้ำก็จะคิดว่า “เฮ้ย ก็ใช้ได้ ไม่ตายนะ ไม่เห็นต้องซื้อแพงๆเลย ดำได้เหมือนกัน” ซึ่งก็ไม่ผิดครับ แต่ถ้ายิ่งเราลงลึกๆ เราะสัมผัสได้ถึงการจ่ายอากาศที่เปลี่ยนไป เกิน15เมตร ก็แทบจะต้องออกแรงดูดอากาศมากกว่าปกติแล้ว ยิ่งถ้ามีกระแสน้ำ ต้องออกแรงมาก เราอาจจะรู้สึกว่าหายใจไม่ทัน อากาศไม่พอได้ จนอาจจะเกิดอาการ Panicได้ แต่ถ้าเป็นแบบ Balance การจ่ายอากาศของ First stage จะเท่ากันทุกระดับความลึก เรียกว่าความดันจากน้ำไม่มีผลกับการจ่ายอากาศเลย เราจะหายใจได้ง่ายกว่า ไม่ต้องออกแรงสูดอากาศมากๆ การดำน้ำก็จะสนุกมากขึ้น ที่เหลือก็ดูเรื่อง port ที่เราจะใช้งานครับ เช่น เราจะต่อ Transmitter มั้ย มีจำนวน port ที่รองรับพอรึเปล่า การซ่อมหรือบำรุงรักษายากมั้ย มีตัวแทนที่ในไทยแล้วรึยัง ก็จะเพิ่มความมั่นใจในระยะยาวได้อีก ว่าของที่เราซื้อใช้ได้ยาวๆแน่นอน

การเลือกซื้อ Second stage

ชิ้นต่อไปที่เราจะพูดถึงก็คือ Second stage ที่สำคัญไม่แพ้กัน ถ้า First stage ดีแล้ว แต่ Second stage ไม่ดี ประสิทธิภาพกานจ่ายอากาศที่เราหายใจก็ลดลงแน่นอน Second stage ก็มีสองระบบเช่นกัน คือแบบ Unbalance และ แบบ Balance จะลงทุนทั้งทีก็ขอแนะนำแบบ Balance ไปนะครับ ด้วยเหตุผลที่คล้ายๆกับ First stage ความลึกไม่มีผลต่อการจ่ายอากาศของอุปกรณ์ย่อมดีกว่าแน่นอน เราจะได้มั่นใจได้ว่า ทุกระดับความลึกเราก็ยังหายใจได้สะดวกไม่ต้องออกแรงดูดอากาศมากกว่าปกติ นอกจากนี้ในบางรุ่นของ Second stage จะมีตัวปรับกัน Free flow และปรับอัตราการจ่ายอากาศอีกด้วย ทำให้เราสามารถปรับระดับอากาศที่ออกมาได้ระหว่างการดำน้ำ ซึ่งก็ทำให้เราปรับแต่งได้เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด ในเรื่องของขนาดอุปกรณ์ ก็อาจจะต้องเลือกที่เราจับได้ถนัดมือ บางเซตจะออกแบบมาให้พกพาง่าย หรือเหมาะกับผู้หญิงจึงมีขนาดเล็ก

และน้ำหนักเบา แต่พอผู้ชายมาใช้ อาจจะเล็กไปจับไม่ถนัด กด Purge หรือหมุ่นปรับแต่งยากหน่อย ก็คงต้องเลือกให้ใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสมด้วยนะครับ

***ข้อควรระวัง พอการจ่ายอากาศดี เราก็อาจะชิลมาก หายใจลื่นปื้ดๆจนไม่ได้ดูว่าใช้อากาศไปเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นนักดำน้ำมือใหม่ควรดูอากาศตัวเองบ่อยๆ ยิ่งลงลึกอากาศจะหมดเร็วกว่าที่ตื้น หมั่นดูเกจกันบ่อยๆด้วยนะครับ

Regulator รุ่นไหนดี

Octopus (Alternate air source) อย่าคิดว่าไม่สำคัญน้า...

มาพูดถึง Octopus หรือชื่อทางการคือ Alternate air source กันบ้าง นักดำน้ำย่อมรู้อยู่แล้วว่า Octopus ทำหน้าที่อะไร ในยามฉุกเฉินก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ ยิ่งถ้าต้องแชร์อากาศให้บัดดี้แล้วได้ใช้งาน Octopus แน่นอน Octopus มีสองระบบเช่นกัน แบบ Unbalance และ แบบ Balance ถ้านักดำน้ำต้องการจะประหยัดเงินก็สามารถลดspec ในส่วนของ Octopus ได้ เพราะปกติไม่ใช่อุปกรณ์ที่เราจะใช้งานเป็นหลัก แต่ยังไงก็ต้องมีติดไว้เสมอ ทำให้เราสามารถเลือกใช้แบบ Unbalance ได้ แต่ถ้าเลือกได้ การมี Octopus แบบ Balance ก็น่าจะดีกว่า ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เซท Regulator รุ่นท๊อปๆของหลายแบรนด์ Octopus จะเป็นแบบ Balance ด้วย บางทีก็มีโปรโมชั่นดี ซื้อ 1st stage พร้อม 2nd stage แถมฟรี Octopus ซึ่งคุ้มค่ามาก สิ่งที่สำคัญจริงๆอีกข้อคือ การดูแลรักษา เราควรหมั่นตรวจสอบ Octopus ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพราะถ้าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจะได้ใช้งานได้ทันที ยิ่งถ้าบัดดี้เรา(หรือแฟนเรา555) ตัวใหญ่ใช้อากาศเยอะ และต้องแชร์อากาศบ่อยๆ ก็จัดดีๆไปเลยนะครับ เพื่อคนที่เรารัก

สุดท้ายที่ต้องมีก็คือ SPG หรือ เกจอากาศ นั่นเอง

โดยปกติ SPG จะมีหลายแบบ หลายขนาด มีหน่วยการแสดงผล เป็น Bar หรือ Psi ก็แล้วแต่ความถนัดในการใช้งาน แต่ทั่วไปนิยมแบบ Bar มากกว่า ดังนั้นขอฟันธงเลยว่า SPG ควรจะซื้อเป็นแบบที่บอกผลเป็น Bar นะครับ เพราะง่ายต่อการดูและบอกอากาศ Dive lead ไม่แต่แปลงค่าให้วุ่นวายใต้น้ำ นอกจากนี้ SPG ยังมีแบบเป็น Console ด้วย คือสามารถเพิ่ม Depth gauge, dive com หรือ เข็มทิศได้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนเลยครับ สามารถเพิ่มได้แต่ก็จะมีน้ำหนักที่มากขึ้นในการดำน้ำ ส่วนใหญ่ Dive com และเข็มทิศ เราจะใส่ที่ข้อมือมากกว่า และดูความลึกจาก Dive comเลย ทำให้ SPG จะมีแค่เกจเดียว คำถามสำคัญคือ ถ้ามี Transmitter แล้วจำเป็นต้องมี SPG อยู่มั้ย บอกเลยว่าต้องมีครับ ไม่สามารถตัดสายเส้นนี้ออกไปได้ เพี่อความปลอดภัยของตัวนักดำน้ำเอง

สรุปการเลือกซื้อ Regulator เป็นของตัวเองซัก 1 เซท ถ้ากำลังทรัพย์ไม่ใช่ปัญหาแล้ว แนะนำให้เลือกที่ดีที่สุดเหมาะกับการใช้งานทุกสภาพภูมิอากาศ หรือทุกระดับความลึกไปเลย เราคงไม่ดำน้ำที่ความลึก 15 เมตรตลอดไปแน่นอน และที่สำคัญ Regulator ที่ซื้อก็เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง อุปกรณ์เช่าเราไม่รู้เลย ว่าก่อนหน้าใครใช้งานมาบ้าง มีปัญหาอะไรมั้ย แต่ถ้าอุปกรณ์เราเอง เราย่อมรู้ดีว่าการใช้งานเป็นยังไง หรือมีปัญหาที่ต้องซ่อมแซมแก้ไขมั้ย ผู้เขียนมักจะถามคนที่ขอความความเห็นในการซื้อ Regulator เสมอว่า เราให้ความสำคัญกับชีวิตเราแค่ไหน ถ้าเงิน2-3หมื่น ซื้อความปลอดภัยให้เราเพิ่มขึ้นได้ มันก็คุ้มค่าแล้ว เพราะชีวิตเรามีค่ามากกว่านั้นเยอะ