สำหรับนักดำน้ำมือใหม่ป้ายแดงที่ก้าวเข้าสู่โลกใต้ทะเล พอดำน้ำจนเข้าเส้นแล้ว แน่นอนว่าต้องอยากมีอุปกรณ์เป็นของตัวเอง แล้วจะซื้ออะไรก่อนดีน้า ตีนกบดำน้ำ หรือ ฟินดำน้ำ ก็เลยน่าจะเป็นตัวเลือกนึงที่น่าลงทุน เพราะราคาไม่แรง มีตั้งแต่ราคาหลักพันต้นๆ ใส่ดำน้ำตื้นก็ได้ แถมไม่ต้องลุ้นว่าฟินดำน้ำเช่าจะแน่นไปหรือหลวมไป โดดปุ๊บฟินส์หลุด วันนี้เราก็เลยจะมาแนะนำวิธีเลือก ซื้อตีนกบ เบื้องต้นกัน

ฟินดำน้ำแบบ Scuba จะแบ่งตามลักษณะการสวมใส่ได้ 2 แบบ คือ 

1. ฟินดำน้ำ หรือ ตีนกบดำน้ำ แบบ Full Foot

ตีนกบดำน้ำ แบบ Full Foot หรือ หุ้มส้น จะเป็น Pocket Silicone แบบหุ้มส้น สำหรับใส่เท้าเข้าไปได้เลย เลือกขนาดตามเบอร์รองเท้าที่เราใส่อยู่เพราะจะใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นฟินส์ที่เราได้ใส่ตอนเริ่มเรียน Scuba ทั้งตอนลงสระและออกสอบภาคทะเล 

  • ข้อดี : สวมใส่ง่าย ใส่ได้เลยโดยไม่ต้องใส่บูท เก็บล้างทำความสะอาดง่าย 
  • ข้อด้อย : ถ้าไปดำน้ำที่เย็นอาจจะต้องใส่ถุงเท้าเพิ่มทำให้ฟินส์คับเกินไป หรือในการดำน้ำแบบ shore dive การเดินลงจากหาด อาจจะไม่สะดวกถ้าพื้นที่บริเวณที่ลงมีหินหรือปะการังตายที่แตกหัก 

2. ฟินดำน้ำ หรือ ตีนกบดำน้ำ แบบ Open Heel  

จะเป็นฟินส์แบบที่ต้องมีบูทก่อนใส่ เพราะตัว ฟินดำน้ำ จะไม่มี Pocket ที่หุ้มส้นแบบนิ่มๆ แต่จะเป็นแบบสายรัดส้นมาแทน ซึ่งจะปรับขนาดได้ ดึงให้กระชับได้ บางรุ่นจะเป็นสายรัดแบบยางหรือซิลิโคน บางรุ่นจะเป็นสายรัดแบบสปริง ก็จะแข็งแรงทนทานกว่าแบบยาง  

  • ข้อดี : เหมาะกับคนที่ขนาดเท้าไม่พอดีกับฟินส์แบบFull foot เพราะตัวฟินส์เป็นแบบสายรัดส้นที่ปรับได้ บูทช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับเท้า สะดวกเวลาที่ต้องเดินก่อนลงไปดำน้ำแบบ shore dive 
  • ข้อด้อย : ราคาสูงกว่าตีนกบดำน้ำแบบ Full Foot หรือหุ้มส้น เพราะต้องซื้อบูทด้วย ขนย้ายเวลาเดินทางเยอะกว่าแบบ Full Foot

แบบนี้เราพอจะรู้กันแล้วว่า ฟินดำน้ำ แบบไหนที่จะเหมาะกับการใช้งานแบบไหน แต่ทีนี้ ตีนกบดำน้ำ ยังมีความแตกต่างอีกแบบที่ตัวใบฟิน คือจะมีแบบฟินปกติ เต็มๆใบ หรือที่เรียกว่า Paddle Fins ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด สู้กระแสน้ำได้ดี กับอีกแบบที่เรียกว่า Split Fins จะเป็นฟินแบบผ่าครึ่ง ซี่งเหมาะกับคนที่ชอบการตีขาแบบ Flutter kick หรือ การตีนขาแบบขึ้นลง แต่อาจจะไม่เหมาะกับเวลาเจอน้ำแรง และไม่นิยมใช้ในทาง Technical diving 

 

ส่วนรุ่นที่เป็นที่ชื่นชอบของนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ จะเป็นแบบ Jet fins ซึ่งมีหลายแบบหลายแบรนด์ แข่งกันที่วัสดุคงทน และ ยืดหยุ่น มีการรีดน้ำที่ดี สู้กระแสได้ดีมาก อาจจะรู้สึกหนักในการตีขามากกว่าฟินดำน้ำแบบอื่นๆ ถ้าไม่ค่อยได้ออกกำลังกายขา อาจจะเป็นตะคริวได้ง่ายในช่วงการฝึกใช้แรกๆ แต่พอชินแล้ว รับรองว่าไม่หวั่นแม้วันกระแสมาแรงมาก  

ข้อควรระวังในการเลือกซื้อฟินดำน้ำ อย่างนึงที่เป็นปัญหาพอสมควรในการเลือกตีนกบ คือเรื่องสีของตีนกบโดยเฉพาะสายแฟชั่นที่ชอบสีสันสดใส ปัญหาหลักคือเรื่องจุดดำคล้ายเชื้อรา ยิ่งสีสดใสเท่าไหร่ ยิ่งมองเห็นง่าย และอาจจะดูไม่สวยงามเมื่อใช้ฟินดำน้ำมาสักระยะ ถ้าฟินดำน้ำซีดเป็นสีขาว หากเก็บไม่ดี ร้อนมากๆ อาจจะทำให้เป็นสีเหลืองหม่นๆได้ สีที่มีปัญหาน้อยที่สุดน่าจะเป็นสีดำแต่สายแฟชั่นสีเจ็บๆอาจไม่ถูกใจสีนี้

การดูแลรักษาและทำความสะอาดตีนกบหลังการดำน้ำ 

หลังจบทริปดำน้ำ วิธีการดูแลรักษาและทำความสะอาดฟินดำน้ำจะคล้ายกับอุปกรณ์ดำน้ำชิ้นอื่นๆ คือควรแช่ในน้ำจืดอย่างน้อยซัก1-2 ชั่วโมง เพื่อให้คราบเกลือต่างๆ ตามซอกหรือในสายรัดแบบสปริงได้หลุดออกมา แต่ถ้าเป็นแบบ Full Foot ฉีดล้างด้วยน้ำจืดหลายๆ รอบก็เพียงพอแล้ว นอกจากนั้น Fin ดำน้ำสีสด และสีขาว เราแนะนำให้ใช้แปรงขนอ่อนขัดที่ใบฟิน เพื่อเอาคราบต่างๆ ออกด้วย เพื่อคงสีสันสดใสไปกับเรานานๆ แล้วน้ำไปผึ่งลมให้แห้ง ในที่ๆไม่โดนแสงแดดโดยตรง ไม่โดนความร้อนมากๆ ไม่อย่างนั้นส่วนที่เป็นซิลิโคนอาจจะแห้งกรอบและฉีกขาดได้ง่าย 

 

งั้นสรุปเราควรเลือกซื้อแบบไหนดีล่ะ คำตอบคงจะอยู่ที่ว่าเราชอบการดำน้ำแบบไหน boat dive หรือ shore dive เราชอบแบบใส่ง่ายๆหรือชอบแบบมีบูท ลองศึกษาหรือ ซื้อตีนกบ มาทดลองก่อนจะเป็นการดีที่สุด จะได้รู้ว่ามันเหมาะกับเรามั้ย บางครั้งนักดำน้ำอาจจะมีฟินส์มากกว่า 1 คู่ก็ได้ ตามการใช้งานที่เราจะไปดำน้ำในทริปนั้นๆ แต่ถ้าจะให้แนะนำแบบซื้อทีเดียวครอบจักรวาล ก็ขอแนะนำแบบ open heel ใบฟินส์แบบ paddle เพราะครอบคลุมการดำน้ำแทบจะทุกแบบ ส่วนรุ่นไหนดีอะไร ลองดูเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ สีไหน รูปแบบไหนที่เราชอบ แล้วก็จัดเลยจ้า